ตรวจโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง หมอจะเล่าให้ฟัง

11 APR 2023
share :

วันนี้เราได้รับการติดต่อจากคุณหมออายุรกรรมเรื่องนัดหมายให้พบกับคุณแม่ของน้องน้ำตาล สุนัขเพศเมียทำหมันแล้ว พันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 13 ปี ซึ่งน้องน้ำตาลได้เข้าตรวจกับคุณหมออายุกรรมด้วยอาการหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน และเริ่มมีอาการเป็นลมเวลาตื่นเต้นดีใจ คุณหมอทำการตรวจร่างกายพบว่าน้องน้ำตาลน่าจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อคุณแม่ของน้องน้ำตาลทราบว่าน้องเริ่มมีความผิดปกติของหัวใจ สร้างความกังวลใจและความไม่สบายใจให้กับคุณแม่เป็นอันมาก ร่วมกับน้องน้ำตาลเป็นสุนัขตัวแรกที่เลี้ยงทำให้คุณแม่ไม่มีประสบการณ์ในการเข้ารับการรักษาและการดูแลสุนัขโรคหัวใจมาก่อน คุณหมออายุรกรรมจึงทำการนัดหมายให้คุณแม่เข้าพบพูดคุยกับคุณหมอหัวใจ เพื่อคลายความกังวล มองเห็นภาพรวมของการรักษาและการดูแลสัตว์ป่วยโรคหัวใจ ตลอดจนการวางแผนการดูแลรักษาร่วมกันกับคุณหมอ

เมื่อเราได้ฟังคำถามต่างๆ จากคุณแม่ เราจึงค่อยๆ อธิบายขั้นตอนการวินิจฉัย การรักษาและดูแลสัตว์ป่วยโรคหัวใจให้คุณแม่ฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้คุณแม่ได้เห็นภาพของการรักษาร่วมกันโดยละเอียด และขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้

แนะนำให้คุณแม่พาน้องน้ำตาลเดินทางมาถึงที่โรงพยาบาลสัตว์ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย เพื่อให้น้องได้ทำความคุ้นเคยกับสถานที่ คลายความกังวล และมีเวลาให้คุณแม่กรอกประวัติหรือรายละเอียดของน้องน้ำตาลเพิ่มเติม โดยคุณแม่ควรสังเกตอาการของน้ำตาลว่าน้องมีความเครียดหรือความกลัวในการรอในโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะบางครั้งน้องต้องนั่งรอในห้องรับรองที่มีสุนัขตัวอื่นเห่าหรือแมวร้องขู่ อาจสร้างความกลัวให้น้อง หากเป็นเช่นนั้นให้คุณแม่แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อไปรอในสถานที่สงบหรือห้องที่จัดไว้ต่างหากเพื่อลดความกลัว ความเครียดก่อนเข้าพบหมอ จากนั้นน้องจะได้รับการเรียกเข้าห้องตรวจ หมอจะทำการซักประวัติเกี่ยวกับน้องน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นประวัติวัคซีน การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ โรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำ พฤติกรรมผิดปกติที่เปลี่ยนไป การทานอาหาร การขับถ่าย อาการหอบเหนื่อย ไอหายใจลำบาก หรือเป็นลม เป็นต้น เมื่อน้องน้ำตาลคุ้นเคยกับห้องตรวจและไม่มีความกลัว ความกังวลใดๆ แล้ว หมอจะเริ่มทำการชั่งน้ำหนัก วัดความดันร่างกาย และทำการตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจที่ผิดปกติ เมื่อหมอมีความเห็นว่าน้องน้ำตาลน่าจะมีความผิดปกติของหัวใจจริงๆ คุณหมอจะทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น

• การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อประเมินความผิดปกติของระบบอื่นๆ ในร่างกาย และประกอบการให้ยาและปรับยา

• การตรวจรังสีวินิจฉัยช่องอกและช่องท้อง (เอกซเรย์) เพื่อวัดขนาดของหัวใจ วินิจฉัยความผิดปกติของปอด ภาวะท้องมาน และประเมินความรุนแรงของโรค

• การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) เพื่อประเมินการทำงานการส่งสัญญาณของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ

• การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อวัดขนาดโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ

• ในบางครั้งถ้าการวินิจฉัยพื้นฐานยังไม่สามารถบ่งชี้เฉพาะความผิดปกติได้ อาจต้องทำการวินิจฉัยโดยละเอียดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

เมื่อหมอทำการตรวจวินิจฉัยแล้วสามารถระบุได้ว่าน้องน้ำตาลเป็นโรคหัวใจชนิดใด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยการรับยาแล้วหรือไม่ จากนั้นหมอจะทำการจ่ายยา อธิบายวิธีการบริหารยา การปรับยาในกรณีที่มีอาการฉุกเฉินอยู่ที่บ้าน และไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ทันที การปรับเรื่องอาหาร กิจกรรมต่างๆ และการดูแลของครอบครัว ส่วนการเฝ้าติดตามอาการระหว่างการรักษาของคุณหมอในการมาตรวจแต่ละครั้งเช่น การตรวจเลือด วัดความดัน เอกซเรย์ช่องอก หรือการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงเมื่อมีอาการผิดปกติเพิ่มเติมเป็นต้น

แม้โรคหัวใจซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นน้องน้ำตาล แต่เราสามารถวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะต้น และให้การรักษาประคับประคอง หรือในขณะเดียวกันโรคหัวใจบางอย่างที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดตั้งแต่อายุน้อย เราสามารถทำการวินิจฉัยและให้การรักษาให้อาการดีขึ้นได้ เพื่อให้สัตว์โรคหัวใจทุกตัวมีโอกาสอยู่กับครอบครัวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้นานที่สุดนั่นเองค่ะ

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ? มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย ๆ พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.กรแก้ว ทองแตง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

7 MAR 2023
สัตว์เลี้ยงของเราถึงเวลาตรวจเช็คสุขภาพหัวใจหรือยัง จะทราบได้อย่างไร
“หัวใจ” เป็นอวัยวะที่สำคัญมีหน้าที่สูบฉีดเลือด เพื่อนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายสัตว์เลี้ยง จึงจำเป็นที่เราจะต้องใส่ใจในเรื่องของหัวใจ เพราะหากหัวใจไม่แข็งแรงหรือทำงานผิดปกติ ก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ตามมา
25 OCT 2022
ถ้าอยากให้สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่กับเราไปนานๆ พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำ
ถึงแม้โรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถทำการรักษาและดูแลให้สุนัขและแมวมีความสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เคล็ดลับในการดูแลสุนัขป่วยโรคหัวใจและแมวป่วยโรคหัวใจให้อยู่กับเจ้าของไปได้นาน ๆ ไม่ควรละเลยหรือปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้
21 JUL 2021
วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคที่ใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน เริ่มจากการวินิจฉัยโรคหัวใจ เบื้องต้น โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่