วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง

วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง
21 JUL 2021
share :

โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคที่ใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน เริ่มจากการวินิจฉัยโรคหัวใจ เบื้องต้น โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่

จากนั้นสัตวแพทย์จึงพิจารณาการวินิจฉัยโรคหัวใจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก (Chest X-ray) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG (Electrocardiogram) การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ หรือ เอ็คโค่หัวใจ (Echocardiogram) การตรวจเลือด หรืออาจมีการวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยวิธีพิเศษอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและ ดุลยพินิจของสัตวแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าติดตามตัว 24-72 ชั่วโมง (Holter monitoring) การตรวจด้วยสายสวนหัวใจ (Cardiac catheterization) การตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac CT-scan) และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

1. การซักประวัติ

สัตวแพทย์จะถามถึงอายุ เพศ พันธุ์ของสัตว์เลี้ยง อาการสำคัญเช่น อาการไอ เหนื่อยง่าย เป็นลม และประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงประวัติการได้รับยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ

2. ตรวจร่างกาย

เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคหัวใจ โดยสัตวแพทย์จะตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย สังเกตการหายใจ ดูสีเยื่อเมือกบริเวณเหงือก ใช้หูฟัง ฟังเสียงปอด และเสียงหัวใจ คลำบริเวณช่องอกช่องท้อง จับชีพจร เมื่อสัตวแพทย์พบว่าสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจก็จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่างๆ

3. การถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก (Chest X-ray)

ภาพถ่ายเอกซเรย์ช่องอก ช่วยประเมินโรคภายในช่องอก รวมถึงรอยโรคในปอด และช่วยบอกขนาด และรูปร่างของหัวใจ ลักษณะหลอดเลือดในช่องอก และภาวะน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ดี

4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)

เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในหัวใจ โดยคลื่นไฟฟ้าอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ ช่วยประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจว่าเต้นผิดปกติหรือไม่ หรือ อาจบอกได้ว่าหัวใจแต่ละห้องโตหรือไม่ โดยการตรวจจะมีการติดสื่อนำคลื่นไฟฟ้าไว้ที่ขาของสัตว์เลี้ยง และบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าลงบนกระดาษ

5. การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ (Echocardiogram)

เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ช่วยประเมินการทำงานของหัวใจได้ดี ปลอดภัยและไม่ทำให้สัตว์เลี้ยงเจ็บปวด โดยสัตวแพทย์จะใช้หัวตรวจอัลตราซาวน์ขนาดเล็กแนบไปกับผนังช่องอกของสัตว์เลี้ยง การตรวจวิธีนี้ช่วยให้ เห็นภาพโครงสร้างภายในหัวใจ เช่น ขนาดของหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ การเคลื่อนไหวของหัวใจ ทิศทางการไหลของเลือด ความเร็วและความดันเลือดในหัวใจ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด

6. การตรวจเลือด

การตรวจหาสารที่หลั่งมาจากหัวใจสู่กระแสเลือดเช่น NT-proBNP ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่บ่งชี้สภาพ การทำงานของหัวใจ โปรตีนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเมื่อมีความผิดปกติของหัวใจ

วินิจฉัยโรคหัวใจด้วยวิธีพิเศษอื่นๆ

7. การตรวจคลื่นไฟฟ้าติดตามตัว 24-72 ชั่วโมง (Holter monitoring)

กรณีที่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติ และสัตว์เลี้ยงยังมีอาการผิดปกติ ซึ่งสัตวแพทย์สงสัยว่าอาจมีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สัตวแพทย์ อาจจะใช้อุปกรณ์ที่สามารถติดตามตัวสัตว์เลี้ยงได้ คอยตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเวลาที่ใช้ในการตรวจมักอยู่ที่ 24-72 ชั่วโมง

8. การตรวจด้วยสายสวนหัวใจ (Cardiac catheterization)

ในกรณีที่มีความผิดปกติหัวใจตั้งแต่แต่กำเนิด หรือ มีความซับซ้อน ไม่สามารถบอกชัดเจนจากการทำอัลตราซาวน์หัวใจ อาจมีการทำการตรวจด้วยสายสวนหัวใจเพิ่มเติม และมีการฉีดสารทึบรังสีเข้ากระแสเลือด เพื่อช่วยให้มองเห็นการ ไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจจากเครื่องเอกซเรย์ได้

9. การตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac CT-scan)

เป็นวิธีวินิจฉัยที่ต้องการความชัดเจนของโครงสร้างภายในหัวใจมากยิ่งขึ้น หากสัตว์เลี้ยงเป็นโรคหัวใจที่มีแนวโน้มที่จะทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดหรือวิธีการสวนหัวใจ

10. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

เป็นวิธีวินิจฉัยที่ต้องการความชัดเจนของโครงสร้างภายในหัวใจและการทำงานของหัวใจมากยิ่งขึ้น หากสัตว์เลี้ยงเป็นโรคหัวใจที่มีแนวโน้มที่จะทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดหรือวิธีการสวนหัวใจ

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

11 APR 2023
ตรวจโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง หมอจะเล่าให้ฟัง
วันนี้เราได้รับการติดต่อจากคุณหมออายุรกรรมเรื่องนัดหมายให้พบกับคุณแม่ของน้องน้ำตาล สุนัขเพศเมียทำหมันแล้ว พันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 13 ปี ซึ่งน้องน้ำตาลได้เข้าตรวจกับคุณหมออายุกรรมด้วยอาการหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน และเริ่มมีอาการเป็นลมเวลาตื่นเต้นดีใจ
17 MAR 2022
10 อาการเตือนที่บ่งบอกว่าสุนัขของคุณอาจป่วยเป็นโรคหัวใจในสุนัข
โรคหัวใจในสุนัขสามารถพบได้เช่นเดียวกันกับในคน สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด (Congenital heart disease) แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย หรือพบตามมาภายหลังเกิด (Acquired heart disease) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคหัวใจมีการพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงกลางชีวิต โดยเฉพาะในสัตว์อายุมาก
12 OCT 2023
แม้น้องหมาต้องอยู่คู่กับโรคหัวใจ ก็อายุยืนขึ้นได้ ด้วยวิธีนี้
หมอแนะนำเจ้าของให้ทำการตรวจวินิจฉัยเรื่องโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อทำการประเมินระยะของโรค หลังทำการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตร้าซาวน์หัวใจ (echocardiography) แล้ว พบว่าน้องพิริ เป็นโรคหัวใจในระยะหัวใจโตแต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วม (stage B2)
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่