“สุนัขไอเรื้อรัง” อาการที่พบได้บ่อยนี้ นอกจากโรคหัวใจ มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

11 FEB 2022
share :

อาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการที่สุนัขไอแห้ง หรือสุนัขไอเรื้อรัง ก็เป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้เจ้าของรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อสุนัขในบ้านมีอาการไอเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุของไออาการเรื้อรังที่พบได้บ่อยในสุนัขที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ ได้แก่ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมตีบ และการติดพยาธิหนอนหัวใจ

โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis)

เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรัง สุนัขจะมีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน โดยอาการไอมักเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่มีช่วงเวลาที่เกิดอาการชัดเจน สาเหตุของหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานในส่วนของหลอดลมฝอยส่วนล่าง ทำให้เกิดการสะสมของเสมหะและสิ่งคัดหลั่ง ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของปอดและท้ายที่สุดอาจกระตุ้นให้เกิดการยุบตัวของหลอดลมฝอยตามมา โรคนี้พบได้มากในสุนัขกลางวัยถึงแก่ และในสุนัขพันธุ์เล็ก พบได้น้อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ พบได้มากในกลุ่มสุนัขที่สัมผัสปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ น้ำหอม ฝุ่น ควัน มลพิษทางอากาศ หรือสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในอากาศ ส่วนมากสุนัขที่เป็นโรคนี้มักไม่แสดงอาการป่วยทางร่างกายอื่น มีเพียงอาการไอต่อเนื่อง อาจพบการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจจากอิทธิพลของการหายใจ (respiratory arrhythmia) เมื่อคลำบริเวณลำคอสุนัขมักแสดงอาการไอ สุนัขบางตัวอาจมีเสียงเปลี่ยน หรือเสียงแหบเมื่อเห่า บางตัวอาจมีอาการเป็นลมภายหลังที่เกิดอาการไอ และอาจแสดงอาการเหนื่อยเมื่อทำการทดสอบโดยการเดินในระยะเวลา 6 นาที (6- minutes walk test)
การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการตัดโรคอื่น ๆ ที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมตีบ เมื่อทำการถ่ายภาพรังสีจะพบผนังหลอดลมฝอยมีลักษณะเป็นฝ้าขาวชัดเจนขึ้น คล้ายรูปโดนัท (donut sign) ในภาพตัดขวางของหลอดลมฝอย และคล้ายทางรถไฟ (tramlines) ในภาพตามแนวยาวของหลอดลมฝอย โดยรายละเอียดความผิดปกติดังกล่าวจะสามารถเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากการทำ CT scan การส่องกล้อง (endoscopy) อาจพบผนังหลอดลมฝอยที่มีลักษณะขรุขระ หรือหนาตัวขึ้น อาจพบผนังเยื่อบุที่มีลักษณะบวมแดง และการสะสมของสิ่งคัดหลั่ง ในบางกรณีอาจพบการยุบตัวของหลอดลมฝอยในช่วงหายใจออก เมื่อทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากการทำ bronchoalveolar lavage จะพบเซลล์อักเสบชนิดนิวโทรฟิล ร่วมกับสารคัดหลั่งปริมาณมาก ในบางกรณีอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

โรคหลอดลมตีบ (tracheal collapse)

พบได้มากในสุนัขกลางวัย โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ยอร์คเชีย เทอร์เรีย พุดเดิ้ล ปั๊ก มอลทิส ชิวาว่า และปอมเมอเรเนียน เป็นต้น ปัจจุบันไม่พบว่าเพศใดจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมากกว่า สาเหตุของโรคเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนรอบหลอดลม ส่งผลให้เกิดการยุบตัวของผนังทางด้านบนของหลอดลม ปัจจัยที่ส่งเสริมให้สุนัขแสดงอาการทางคลินิก คือสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในอากาศ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเรื้อรัง อัมพาตกล่องเสียง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ความอ้วน และการสอดท่อหลอดลม เพื่อการวางยาสลบหรือช่วยหายใจ

อาการแสดงทางคลินิกที่พบ ได้แก่ อาการที่สุนัขไอเรื้อรัง สุนัขไอแห้ง กล่าวคือมีลักษณะไอแห้ง เสียงดัง คล้ายเสียงร้องของห่าน (goose honking) อาการไอเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน จากปัจจัยโน้มนำ เช่น ความร้อน การตื่นเต้น ความเครียด โรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ความอ้วน สุนัขอาจแสดงอาการหายใจลำบากในช่วงหายใจเข้า เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมนอกช่องอก (extrathoracic trachea) และ อาการหายใจลำบากในช่วงหายใจออก เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมในช่องอก (intrathoracic trachea) สุนัขอาจมีเสียงหายใจดังคล้ายเสียงกรนหรือเสียงหวีด (wheeze) หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงมักแสดงอาการไอเมื่อคลำ การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการถ่ายภาพรังสี อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหลอดลมตีบในสุนัขโดยภาพถ่ายรังสีมีข้อจำกัด เนื่องจากการยุบตัวของหลอดลมจะขึ้นอยู่กับช่วงการหายใจ จึงทำให้บางครั้งการคาดคะเนขนาดของหลอดลมอาจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยและการบอกความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพรังสีอาจให้ประโยชน์ในการดูโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ปอดหรือหัวใจได้ การถ่ายภาพรังสีแบบเคลื่อนไหว (fluoroscopy) จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่า ที่สามารถช่วยให้เห็นขนาดของหลอดลมในช่วงต่าง ๆ ของการหายใจ โดยไม่จำเป็นต้องทำการสลบสุนัขทั้งตัว อาจใช้เพียงการให้ยาซึม อย่างไรก็ตามวิธีการนี้จะทำให้เห็นเพียงเงาของหลอดลมเป็นภาพ 2 มิติ ส่วนการส่องกล้องจะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของทั้งหลอดลมและหลอดลมฝอยได้ รวมทั้งสามารถใช้บอกความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่เกิดการยุบตัว รอยโรคที่เกิดขึ้นภายในหลอดลม อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากต้องทำภายใต้การวางยาสลบทั้งตัว ลักษณะการหายใจจึงเป็นการหายใจภายใต้อิทธิพลของยาสลบ

การติดพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm infestation)

เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สุนัขไอเรื้อรังได้ จากการที่พยาธิหนอนหัวใจกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบที่ปอด พยาธิหนอนหัวใจติดต่อโดยการที่สุนัขได้รับตัวอ่อนระยะติดโรค (infective stage) หรือ L3 จากการโดนยุงกัด วิธีการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการใช้ชุดทดสอบแอนติเจน เพื่อตรวจแอนติเจนจากพยาธิเพศเมียตัวเต็มวัย และสามารถวินิจฉัยรอยโรคที่ปอดได้โดยการถ่ายภาพรังสี ในกรณีที่มีการติดพยาธิหนอนหัวใจปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันของพยาธิในห้องหัวใจ หรืออาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

เนื่องจากสุนัขทุกตัวมีความเสี่ยงในการติดพยาธิหนอนหัวใจ จึงควรทำการป้องกันการติดพยาธิ โดยการให้ยากลุ่ม Macrocyclic lactones Ivermectin, Selamectin, Milbemycin และ Moxidectin เป็นต้น โดยควรให้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพื่อป้องกันการดื้อยาของสุนัขและความล้มเหลวในการป้องกันการติดพยาธิ และควรทำการตรวจแอนติเจนพยาธิหนอนหัวใจด้วยชุดทดสอบเป็นประจำทุกปี

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่สุนัขไอเรื้อรังหรือสุนัขไอแห้งนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจในสุนัขเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย หรือหากสุนัขของท่านมีอาการไอ แต่ไม่ได้มีอาการป่วยทางร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุนัขเบื่ออาหาร ซึม แม้อาการไอของสุนัขอาจดูไม่ร้ายแรง แต่สุนัขก็ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ เพื่อให้ได้รับการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของโรค หรือในบางกรณีที่สุนัขไอเพราะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ข้างต้น เช่น การติดพยาธิหนอนหัวใจ หากรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะสามารถทำให้สุนัขหายขาดจากอาการป่วยได้ ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ Your Pet Heart : ดูแลหัวใจ ห่วงใยสัตว์เลี้ยง

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย รศ.สพ.ญ.ดร. สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
แม้น้องหมาต้องอยู่คู่กับโรคหัวใจ ก็อายุยืนขึ้นได้ ด้วยวิธีนี้
หมอแนะนำเจ้าของให้ทำการตรวจวินิจฉัยเรื่องโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อทำการประเมินระยะของโรค หลังทำการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตร้าซาวน์หัวใจ (echocardiography) แล้ว พบว่าน้องพิริ เป็นโรคหัวใจในระยะหัวใจโตแต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วม (stage B2)
27 JUL 2021
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ Dirofilaria immitis เข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจและปอดของสุนัขหรือแมว โดยยุงเกือบทุกชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อนี้ได้
7 MAR 2023
สัตว์เลี้ยงของเราถึงเวลาตรวจเช็คสุขภาพหัวใจหรือยัง จะทราบได้อย่างไร
“หัวใจ” เป็นอวัยวะที่สำคัญมีหน้าที่สูบฉีดเลือด เพื่อนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายสัตว์เลี้ยง จึงจำเป็นที่เราจะต้องใส่ใจในเรื่องของหัวใจ เพราะหากหัวใจไม่แข็งแรงหรือทำงานผิดปกติ ก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ตามมา
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่