ภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัข

10 SEP 2021
share :

ภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure; CHF) คือ ภาวะที่หัวใจสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถสูบฉีดเลือด ส่งสารอาหารและออกซิเจนไปสู่อวัยวะส่วนปลายได้เพียงพอ ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขเกิดขึ้นจากโรคหัวใจ ได้แก่ โรคของลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (degenerative mitral valve disease; DMVD) โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy; DCM) และโรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด ได้แก่ patent ductus arteriosus (PDA) subaortic stenosis (SAS) atrial septal defect (ASD) ventricular septal defect (VSD) mitral valve dysplasia สำหรับโรค DMVD คือ โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมแบบทำให้เลือดไหลสวนกลับ (mitral regurgitation; MR) ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ลิ้นหัวใจจะมีลักษณะหนาตัว ส่งผลให้ปิดได้ไม่สนิท ส่งผลให้ในช่วงที่หัวใจบีบตัว จะมีเลือดไหลสวนกลับ ไม่ไหลไปในทิศทางเดียวกัน จึงเกิดเลือดคั่งในหัวใจ หัวใจต้องเพิ่มแรงบีบตัวเพื่อให้การไหลเวียนโลหิตเป็นไปตามปกติ ในที่สุดจึงก่อให้เกิดภาวะหัวใจโตและภาวะหัวใจล้มเหลวโดยจำแนกตาม The ACVIM staging system for CVHD ใน stage C and D เรามักพบโรคนี้ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Poodle, Chihuahua, Cavalier King Charles Spaniels หรือ Pomeranian เป็นต้น

ส่วน DCM นั้นเป็นโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่พบบ่อยที่สุด เป็นความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและ/หรือห้องล่างขวายืดขยายออก ทำให้ผนังของกล้ามเนื้อหัวใจบางลง เกิดช่องว่างในห้องหัวใจมากขึ้น แต่กลับมีความแรงในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในห้องหัวใจ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ร่างกายจึงชดเชยด้วยการเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด เรามักพบ DCM ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น Golden Retriever, Labrador Retriever หรือ Siberian Husky เป็นต้น

ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งตามการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่การบีบตัวผิดปกติ (Systolic failure) การสูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial disease) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy, DCM) ภาวะปริมาตรของเหลวเกิน เช่น valve regurgitation, shunts

2. ภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่เกิดจากการคลายตัวผิดปกติ (Diastolic failure) เกิดจากการไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง ซึ่งอาจเกิดจาก การเพิ่มแรงดันที่ผนังหัวใจมากขึ้นจากความผิดปกติ เช่น ภาวะลิ้นหัวใจตีบ ความดันเลือดสูง หรือจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial disease) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (hypertrophic cardiomyopathy)

แบ่งชนิดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามอาการออกเป็น 2 ชนิด

1. ภาวะหัวใจล้มเหลวทางด้านขวา (Right-sided congestive heart failure) เป็นผลจากการเพิ่มสูงขึ้นของแรงดันในหัวใจห้องบนขวาและหลอดเลือดดำเวนา เควา (vena cava) ทำให้การไหลของเลือดกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง เกิดการคั่งของเหลวในปอดและช่องว่างในร่างกาย เช่น ช่องอก ช่องท้อง หรือทั้งสองส่วน เป็นสาเหตุให้ตับโต และหลอดเลือดดำบริเวณคอมีการขยายใหญ่ (jugular distension) อาการของสุนัขเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวทางด้านขวา ได้แก่ ท้องมาน (ascites) อวัยวะส่วนปลายบวมน้ำ หายใจลำบาก

2. ภาวะหัวใจล้มเหลวทางด้านซ้าย (Left-sided congestive heart failure) เป็นผลจากการเพิ่มสูงขึ้นของแรงดันในหัวใจห้องบนซ้าย และหลอดเลือดพัลโมนารีเวนที่ปอด (pulmonary venous) จากการที่หัวใจบีบเลือดออกจากห้องล่างซ้ายได้ไม่ดี จึงเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อาการของสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวทางด้านซ้าย ได้แก่ เหนื่อยง่าย ไม่อยากออกกำลังกาย ซึม ไอ น้ำหนักลด หายใจเร็ว หายใจลำบาก เยื่อเมือกสีม่วง เป็นลม
เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นแล้วจะมีกลไกต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อปรับสมดุลให้สามารถประคับประคองปริมาณเลือดออกจากหัวใจและแรงดันเลือดในร่างกาย ได้แก่ การกระตุ้นระบบประสาทและฮอร์โมนต่างๆ เช่น การกระตุ้นระบบ Rennin angiotensin aldosterone system (RAAS) อย่างไรก็ตามหากกระตุ้นเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด จากการเพิ่มสูงขึ้นของ Angiotensin II และ Aldosterone ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหัวใจห้องล่างซ้าย ผนังหัวใจบางลง ขนาดหัวใจโตขึ้นและอาจทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตายและเป็นพังผืด และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจเสื่อมลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้การกระตุ้นระบบประสาท sympathetic จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้หัวใจต้องการพลังงานในการทำงานมากขึ้น หัวใจอาจเกิดการล้าและเสียหน้าที่ในที่สุด

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ. ชัญภร กวางรัตน์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

10 OCT 2023
ข้อแตกต่างระหว่างสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (MMVD) กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (DCM)
เมื่อมีสุนัขเข้ามาในโรงพยาบาล 2 ตัว โดยทั้ง 2 ตัวเป็นสุนัขที่มีอายุมากแล้ว ตัวหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มาด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ส่วนอีกตัวเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ มีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า หากเป็นโรคหัวใจ สุนัขทั้ง 2 ตัว จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจชนิดใด
2 NOV 2022
“สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ” ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมแบบไหนที่เหมาะสม
สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะในระยะที่รุนแรงจนเกิดหัวใจล้มเหลว มีน้ำท่วมปอดหรือท้องมานแล้ว การพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายอย่างหนักบางประเภท เช่น วิ่งไล่สิ่งของ หรือว่ายน้ำ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจของสุนัขและแมวทำงานหนัก
30 JUN 2022
โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและการจัดการดูแล
หัวใจ ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความซับซ้อนอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายสุนัข เพราะหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจสุนัขส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ทำให้เกิดภาวะการสะสมของน้ำในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันร่างกายลดลง และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสุนัขตามมา
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่