พาสุนัขป่วยโรคหัวใจไปหาคุณหมอครั้งแรก น้องจะเจออะไรบ้างนะ

12 OCT 2023
share :

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันสุนัขมิใช่เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไว้เพียงแค่เฝ้าบ้านเหมือนดังแต่ก่อน แต่เค้าคือสมาชิกตัวเล็กๆ อีกคนหนึ่งที่เป็นความสุขของทุกคนครอบครัว เมื่อเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจและไม่สบายใจแก่เจ้าของเป็นอันมาก ยิ่งเมื่อน้องอายุมากขึ้น ความเสื่อมของร่างกายก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ โรคอันเกิดจากความชราของร่างกายในหลายครั้งจึงไม่อาจเลี่ยงได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจซึ่งเป็นอีกโรคสำคัญที่สามารถพบได้มากทั้งในสุนัขสูงวัยหรือแม้กระทั่งสุนัขอายุน้อยก็ตาม

โดยเมื่อเข้ารับการตรวจรักษากับคุณหมออายุรกรรมทั่วไป และมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของการทำงานของหัวใจเกิดขึ้นแล้ว น้องๆ เองนั้นจะได้รับการรักษาต่อโดยคุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจโดยตรง หลายครั้งเจ้าของนั้นอาจมีความกังวลใจในการที่น้องๆ ต้องเข้ารับการรักษากับคุณหมอโรคหัวใจในครั้งแรก งั้นเราลองไปดูกันดีกว่า ว่าน้องๆ จะพบกับอะไรบ้างในการเข้าตรวจโรคหัวใจในครั้งแรก

เมื่อเราไปถึงที่โรงพยาบาลตามเวลานัดหมาย ซึ่งควรไปก่อนเวลานัดสักเล็กน้อย เพื่อมีเวลาในการกรอกประวัติ รายละเอียดต่างๆ ของทางโรงพยาบาล รวมทั้งมีเวลาให้น้องๆ ทำความคุ้นเคยกับสถานที่ ลดความตื่นเต้นก่อนที่จะพบคุณหมอ โดยคุณพยาบาลจะนำน้องไปชั่งน้ำหนัก วัดความดันร่างกาย และวัดอุณหภูมิร่างกาย จากนั้นคุณหมอจะทำการซักประวัติไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันต่างๆ การออกกำลังกาย ประวัติการทำวัคซีน การป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ การเจ็บป่วยโดยโรคอื่นๆ การรักษาก่อนหน้า รวมถึงยาที่ทานและขนาดที่ได้รับ มีสุนัขตัวอื่นในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือไม่ อาหารและขนมที่ทาน อาการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจ เช่น การไอ หายใจลำบากหรือเป็นลม เป็นต้น

เมื่อคุณหมอซักประวัติและปล่อยให้น้องทำความคุ้นเคยกับสถานที่จนไม่มีความตื่นเต้นแล้ว คุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดูสีเยื่อเมือก ฟังเสียงหัวใจ เสียงปอด รวมทั้งการจับคลำชีพจร จากนั้นน้องจะได้รับการประเมินและทำหัตถกรรมต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอกซเรย์ช่องอก รวมทั้งการอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) ตามสมควร เพื่อประเมินว่าน้องมีภาวะของโรคหัวใจแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วนั้นอยู่ในระดับใด และวางแผนการรักษาต่อว่าจำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจหรือไม่ หรือเฝ้าติดตามอาการไปก่อน

จากนั้นคุณหมอจะให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคที่น้องๆ เป็น อาหารที่ควรทานและควรเลี่ยง กิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำได้ การดูแลน้องๆ ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการนับอัตราการหายใจขณะพักหรือหลับสนิท รวมทั้งการสังเกตอาการฉุกเฉินต่างๆ และควรรีบพามาพบคุณหมอ เช่น ไอเยอะขึ้น หายใจลำบาก ยืดคอหายใจ สีของลิ้นที่ม่วงคล้ำขึ้น อัตราการหายใจที่ถี่ขึ้น ไม่สามารถนอนได้เป็นเวลานานๆ เหมือนก่อน เป็นลมบ่อยๆ ท้องบวมโต มีการบวมน้ำของขา หรือความอยากอาหารลดลง เป็นต้น รวมทั้งการดูแลจัดการเบื้องต้น จากนั้นจึงทำการนัดหมายในครั้งต่อไป ก่อนจบการรักษาถ้าเจ้าของมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการดูแลหรือความเจ็บป่วยของน้องๆ สามารถทำการสอบถามข้อมูลกับคุณหมออีกครั้ง เพราะไม่ว่าเจ้าของหรือหมอ เราล้วนมีหัวใจดวงเดียวกัน คือน้องๆ ที่เราอยากให้เค้าอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดนั่นเอง

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.กรแก้ว ทองแตง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

12 OCT 2023
อันตรายจากการให้ยาโรคหัวใจสัตว์เลี้ยงไม่ต่อเนื่องหรือให้ไม่ถูกต้องเหมาะสม
สาเหตุที่มักทำให้แมวและสุนัขได้รับยาโรคหัวใจไม่สม่ำเสมอ
11 JAN 2022
การประเมินอาการสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้าน
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรา มีอาการที่ผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีอาการไอแห้งบ่อย ๆ ในสุนัข หรือแสดงอาการไม่ใช้สองขาหลังเฉียบพลัน ซึ่งมักพบได้บ่อยในแมว เจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์แล้ว
27 JUL 2021
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง
โรคพยาธิหนอนหัวใจในสัตว์เลี้ยง เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ Dirofilaria immitis เข้าไปอาศัยอยู่ในหัวใจและปอดของสุนัขหรือแมว โดยยุงเกือบทุกชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อนี้ได้
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่