โรคพยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายที่มากับยุง

29 JUL 2021
share :

ใกล้หน้าฝนเข้ามาทุกที วันนี้จะพาไปรู้จักกับโรคพยาธิหนอนหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในสุนัข ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค!!

โรคพยาธิหนอนหัวใจเป็นโรคที่พบได้ในสุนัขทุกพันธุ์และทุกช่วงอายุ โดยโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสุนัขถูกยุงที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจกัด ตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจก็จะเข้าสู่ร่างกายสุนัข และเจริญเป็นตัวเต็มวัยโดยอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจไปสู่ปอด จากนั้นพยาธิตัวเต็มวัยก็จะสืบพันธุ์ ออกลูกหลาน และปล่อยตัวอ่อนของพยาธิออกมาในกระแสเลือดของสุนัข จากนั้นเมื่อยุงมากัดสุนัขที่มีตัวอ่อนของพยาธิ ตัวอ่อนของพยาธิก็จะเข้าสู่ตัวยุง โดยจะฟักตัวอยู่ในยุงประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจไปกัดสุนัขอีกตัวหนึ่ง ก็จะทำให้ตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจก็เข้าสู่ร่างกายสุนัขตัวนั้น กระบวนการดังกล่าวนี้ทำให้โรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถถ่ายทอดไปสู่สุนัขตัวอื่นต่อไป

อาการ

ในระยะเริ่มต้น สุนัขมักจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร หอบ เหนื่อยง่าย ไอแห้ง ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยที่อยู่ในตัวสุนัข หากมีจำนวนพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยมากในหัวใจ จะทำให้เกิดการอุดตันและส่งผลให้หัวใจและระบบหมุนเวียนเลือดทำงานผิดปกติ จนในที่สุดเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยสุนัขจะมีภาวะท้องมาน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าท้องกางมากกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตในที่สุด

การวินิจฉัย และการรักษา

ในกรณีที่สุนัขมีอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วหรือสงสัยว่ามีการติดพยาธิหนอนหัวใจ สามารถพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้าน โดยสัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยใช้หลายวิธีร่วมกันดังนี้

• เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจในเลือดสุนัข

• ตรวจหาตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือด

• ถ่ายภาพรังสี เพื่อดูรอยโรคและความรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ ดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างหัวใจ

• การตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ซึ่งอาจพบพยาธิในหัวใจในกรณีที่มีการเคลื่อนของพยาธิเข้าสู่หัวใจแล้ว

การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งจะต้องทำการประเมินและดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์

การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ

ในปัจจุบันมียาฉีดสำหรับรักษาพยาธิหนอนหัวใจ แต่ในการรักษาก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงควรทำการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขทุกตัวจะดีกว่า โดยสามารถเริ่มโปรแกรมป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ในกรณีที่เจ้าของจะเริ่มโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน หรือในสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว สุนัขควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ เพื่อยืนยันว่าสุนัขไม่ได้มีการติดพยาธิหนอนหัวใจไปก่อนหน้าแล้ว จึงค่อยเริ่มโปรแกรมป้องกัน ซึ่งการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

1. ป้องกันไม่ให้สุนัขโดนยุงกัด

เนื่องจากยุงเป็นพาหะของโรคพยาธิหนอนหัวใจ การป้องกันไม่ให้สุนัขโดนยุงกัดจึงสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งเจ้าของสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาหยดหลังที่สามารถกันยุงได้ การจุดยากันยุง การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน หรือการติดมุ้งลวดให้ที่กรงสุนัข

2. ป้องกันโดยการใช้ยาที่มีผลในการกำจัดตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจ

ปัจจุบันยาที่นิยมใช้เพื่อกำจัดตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจเป็นยาในกลุ่ม macrocyclic lactone ซึ่งมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้ของเจ้าของ ทั้งแบบหยดหลัง แบบกิน หรือแบบฉีด โดยทั่วไปแล้วยาแบบหยดหลังและกิน จะแนะนำให้ใช้เป็นประจำ ทุกเดือนหรือแบบฉีดที่สามารถป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ยาวนานถึง 12 เดือน โดยยาบางชนิดอาจสามารถป้องกันและกำจัดปรสิตภายในและภายนอกได้ด้วย ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ จะครอบคลุมและสามารถป้องกันและกำจัดปรสิตอื่นได้แตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนการเลือกใช้ยาทุกครั้งจึงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์หรืออาจสอบถามจากสัตวแพทย์ เพื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมและถูกต้องสำหรับสัตว์เลี้ยงของเรา

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

21 JUN 2022
อัตราการหายใจ บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด.... พร้อมวิธีเช็กการหายใจของสุนัขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองที่บ้าน
เมื่อสุนัขป่วย อาการที่มักสังเกตได้ชัดเจนคืออาการสุนัขเบื่ออาหาร ซึม ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นอาการพื้นฐานของการป่วยหลายโรคในสุนัข แต่นอกจากหลักสังเกตตามอาการข้างต้นแล้ว รู้หรือไม่ว่ายังมีหลักสังเกตอีกหนึ่งอย่าง ที่จะช่วยให้เจ้าของรู้ได้ว่าสุนัขของเรายังมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นั่นคือ “การสังเกตอัตราการหายใจ”
13 DEC 2022
เราต้องหมั่นพาน้องไปตรวจเช็คหัวใจบ่อยแค่ไหน?
โรคหัวใจในสุนัข เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด หรือจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำหน้าที่ของหัวใจที่เกิดเมื่อสุนัขอายุมากขึ้น เช่น ภาวะผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดที่หัวใจ ถุงหุ้มหัวใจหรือลิ้นหัวใจ ดังนั้นผู้เลี้ยงสุนัขทุกคนควรเอาใจใส่ดูแล
30 JUN 2022
รู้ได้อย่างไร? ว่าสุนัขของเราเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากการเป็นโรคหัวใจในสุนัขตั้งแต่กำเนิด (Congenital heart disease) หรือโรคหัวใจในสุนัขที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired heart disease) เช่น ในสุนัขสูงวัย สุนัขน้ำหนักเกิน อีกทั้งโรคหัวใจยังเป็นโรคประจำสายพันธุ์ของสุนัขในบางสายพันธุ์อีกด้วย แล้วสุนัขของเรามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่? จะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขมีความเสี่ยง?
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่