มารู้จักโรคหัวใจในสุนัขกันเถอะ

17 MAY 2021
share :

เช่นเดียวกันกับมนุษย์ สุนัขก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้เช่นเดียวกัน บทความนี้จะมาแนะนำให้เจ้าของรู้จักกับโรคหัวใจในสุนัข โดยทั่วไปโรคหัวใจในสุนัขแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital heart disease)

พบได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่เจอความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่ เช่น ความผิดปกติของผนังกั้นหัวใจห้องซ้ายและขวา (septal defect) การคงอยู่ของหลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างเส้นเลือดที่ออกจากหัวใจและเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่ ในขณะที่เป็นตัวอ่อน (Patent ductus arteriosus) เป็นต้น

2) โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง (Acquired heart disease)

โรคหัวใจในสุนัขประเภทนี้สามารถพบได้บ่อย ซึ่งการเกิดโรคหัวใจในสุนัขประเภทนี้จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา จึงทำให้พบโรคหัวใจประเภทนี้ส่วนใหญ่ในสุนัขที่มีอายุมาก ตัวอย่างโรคหัวใจในสุนัขที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Myxomatous mitral valve degeneration) โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงร่วมกับการขยายใหญ่ของห้องหัวใจ (Dilated Cardiomyopathy) เป็นต้น

มาทำความรู้จักเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 2 โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข ดังนี้

1. โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Myxomatous mitral valve degeneration)

เป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย โดยปกติเวลาที่หัวใจทำการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย จะมีลิ้นกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปในทางเดียว แต่เมื่อลิ้นหัวใจนี้เกิดความเสื่อม ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดการหนาตัวขึ้น ส่งผลให้เกิดการรั่วและมีเลือดไหลย้อนกลับมาในหัวใจห้องบนซ้าย หัวใจห้องบนซ้ายจึงขยายใหญ่ และเกิดการคั่งของเลือดในปอด

อาการ: มักจะไม่พบการแสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่สามารถทราบได้จากการตรวจร่างกายด้วยการฟังเสียงหัวใจโดยสัตวแพทย์ ซึ่งจะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ อาการที่พบจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยเมื่ออาการรุนแรงขึ้นมักพบอาการที่สุนัขไอแห้ง และมีการหายใจที่ผิดปกติ (สุนัขหายใจลำบาก หายใจถี่ขึ้น) เป็นต้น จนในที่สุดจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด

พันธุ์สุนัขที่พบบ่อย: มักพบในสุนัขพันธุ์เล็กอายุมาก เช่น ปอมเมอเรเนียน ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย พุดเดิ้ล มิเนเจอร์ชเนาเซอร์ มอลทีส ชิวาวา และดัชชุน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สุนัขสายพันธุ์คาวาเลียร์ คิง ชาร์ลส์ สแปเนียล สามารถพบโรคนี้ได้ตั้งแต่อายุน้อย

2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงร่วมกับการขยายใหญ่ของห้องหัวใจ (Dilated Cardiomyopathy)

เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและมีความอ่อนแอ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง

อาการ: สุนัขจะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง ไม่ทนต่อการออกกําลังกาย อาจมีอาการเป็นลมหมดสติ หากโรคมีการดำเนินไปสู่ระยะที่มีความรุนแรงมากขึ้นจนเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีอาการ สุนัขไอแห้ง สุนัขไอเรื้องรัง หอบ สุนัขหายใจลําบาก สุนัขท้องมาน จนเกิดหัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด

พันธุ์สุนัขที่พบบ่อย: มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น ค็อกเกอร์ สแปเนียล ดัลเมเชียน โดเบอร์แมนพินสเชอร์ เกรทเดน โกลเด้นรีทริฟเวอร์ และบ๊อกเซอร์ เป็นต้น

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

8 FEB 2024
รู้หรือไม่! วินัยจากเจ้าของ ส่งผลต่ออาการสุนัขป่วยโรคหัวใจมากกว่าที่คิด
เมื่อน้องหมาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ สิ่งที่ควรทำในการดูแลอาการของสุนัขป่วยโรคหัวใจ นอกจากการไปหาสัตวแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด วินัยของเจ้าของก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เจ้าของควรมีความเข้าใจและดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการดูแลน้องหมาเป็นโรคหัวใจขณะอยู่ที่บ้าน แบ่งกว้างๆ เป็น 4 ด้านได้แก่
27 OCT 2021
สุนัขเป็นโรคหัวใจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหนกันนะ?
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเมื่อสุนัขป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน? ข้อมูลอ้างอิงจากวารสารทางการแพทย์พบว่า ค่ากลางของกลุ่มสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม
24 AUG 2022
เพราะรักจึงต้องดูแล เช็คให้ชัวร์อาการนี้ “ป่วยทั่วไป” หรือ “สัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจ”
โรคหัวใจสุนัข เป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการผิดปกติให้เจ้าของได้รับรู้ จนกว่าสุนัขจะป่วยเป็นโรคหัวใจสุนัขไปแล้วระยะหนึ่ง อาการผิดปกติต่าง ๆ จึงจะเริ่มแสดงให้เห็นชัดขึ้น อย่างไรก็ตามอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจสุนัขก็มีความคล้ายกับอาการเมื่อสุนัขป่วยทั่วไป แต่จะมีบางอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นเจ้าของจึงควรสังเกตให้ดีว่าอาการที่สุนัขของเรากำลังเป็นอยู่นี้คืออาการป่วยทั่วไปหรือสัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจสุนัข
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่