โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัข

17 MAY 2021
share :

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในสุนัขเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายน้อยลง มีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ และเกิดภาวะหัวใจโตตามมา

โรคนี้พบว่าอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการขาดสารอาหารบางชนิด มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น บ็อกเซอร์ โดเบอร์แมน ค็อกเกอร์สแปเนียล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ดัลเมเชี่ยน เกรทเดน ไอริชวูล์ฟฮาวด์ โปรตุกีสวอร์เตอร์ด็อก และชเนาเซอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สามารถพบโรคนี้ในสุนัขพันธุ์เล็กได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคนี้สามารถเกิดจากการที่สุนัขได้รับสารพิษหรือยาต้านมะเร็งบางชนิดที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจ

อาการ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง สามารถแบ่งตามอาการได้เป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะที่ไม่แสดงอาการ สุนัขจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆให้เห็น แต่หัวใจเริ่มมีการขยายใหญ่ และมีการบีบตัวได้น้อยกว่าปกติ

2. ระยะที่แสดงอาการ สุนัขมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น อาการหอบ หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ไอ เป็นลม เหงือกซีด ท้องกาง เป็นต้น หรือในบางพันธุ์ เช่น พันธุ์โดเบอร์แมน อาจทำให้เกิดการตายอย่างฉับพลัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจำเป็นต้องใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน ในเบื้องต้น สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติทั่วไป รวมถึงเรื่องอาหาร ขนม ยา วิตามินที่ได้รับ จากนั้นทำการตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ เอกซเรย์ช่องอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออาจมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการทำงานของตับหรือไต ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่พบความผิดปกติอะไร วิธีการวินิจฉัยที่ช่วยบ่งชี้โรคนี้ได้ดีคือ การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ หรือการทำเอ็คโค่หัวใจ เนื่องจากสัตวแพทย์สามารถประเมินการทำงานของหัวใจได้ดี โดยการเห็นภาพภายในหัวใจ เห็นการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ในบางกรณีอาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดตามตัว 24 ชั่วโมง หรือการตรวจเลือดเพื่อดูตัวบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือการตรวจสารพันธุกรรม เป็นต้น

การรักษา

เมื่อสุนัขถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงแล้ว มีแนวทางการรักษาดังนี้

1. ระยะที่ไม่แสดงอาการ: ให้ยาช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว ซึ่งพบว่าอาจช่วยชะลอระยะเวลาการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้หลายปีในสุนัขบางพันธุ์

2. ระยะที่แสดงอาการแล้ว: ในกรณีที่สุนัขมีอาการรุนแรง ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับยาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมียาหลายชนิด รวมถึงยาช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว เมื่อสุนัขมีอาการคงที่ดี สัตวแพทย์อาจให้เจ้าของพากลับไปดูแลที่บ้าน โดยดูแลตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด การพยากรณ์โรคในระยะนี้ สุนัขอาจมีชีวิตอยู่ได้อีก 2-3 เดือน หรืออีกหลายปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา

คำแนะนำ

ควรพาสุนัขไปตรวจสุขภาพและฟังเสียงหัวใจสม่ำเสมอ ในกรณีสุนัขพันธุ์ใหญ่และเป็นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม นอกจากนั้นควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี และให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอ ในเรื่องของอาหารควรให้อาหารที่มีโภชนาการที่สมดุล การให้อาหารเสริม เช่น ทอรีน โคเอนไซม์คิวเทน แอลคาร์นิทีน หรือโอเมก้า อาจได้ประโยชน์ในบางกรณี บางกรณีอาจไม่มีความจำเป็น หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาสัตวแพทย์

สามารถดาวน์โหลด Heart2Heart App ได้แล้วทั้งทาง Google Play และ Apple Store และดูขั้นตอนการใช้งานได้ที่ https://yourpetheart.com/ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ/สุนัขของเราเป็นโรคหัวใจไหมนะ-มาดูวิธีเช็กด้วยตัวเองง่าย-ๆ-พร้อมตัวช่วยที่จะทำให้เจ้าของสังเกตได้สะดวกขึ้น “โรคหัวใจสุนัข รู้ทันได้ แค่หมั่นสังเกตอาการให้ชัวร์”

ตรวจความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจที่ https://bit.ly/YPH_Quiz
ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์หรือศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านที่ https://bit.ly/YPH_Clinicsearch

เอกสารอ้างอิง

1. Prosek, R. Dilated Cardiomyopathy in Dogs and Cats. 2019. [online]. Available: https://veterinarypartner.vin.com/default.aspx?pid=19239&id=4952598

2. Stern, J.A., et al. Client information: Myocardial disease in dogs. In: Ettinger, S.J., Feldman, E.C., Cote, E., 2017. Textbook of Veterinary Internal Medicine. 8thEdition. Missouri, Elsevier.

บทความนี้เขียนโดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์


อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

29 OCT 2021
การดูแลและรักษาสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (part 2)
เป้าหมายของการรักษาเพื่อลดภาวะการคั่งน้ำและทำให้หัวใจเพิ่มการการไหลเวียนในระบบหลอดเลือดหัวใจ จากเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ ให้การดูแลรักษาโดย
2 NOV 2022
“สุนัขและแมวป่วยโรคหัวใจ” ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมแบบไหนที่เหมาะสม
สุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะในระยะที่รุนแรงจนเกิดหัวใจล้มเหลว มีน้ำท่วมปอดหรือท้องมานแล้ว การพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายอย่างหนักบางประเภท เช่น วิ่งไล่สิ่งของ หรือว่ายน้ำ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจของสุนัขและแมวทำงานหนัก
19 APR 2022
“อาการไอ” ของสุนัข เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเกิดจากโรคหัวใจในสุนัข หรือ โรคอื่น ๆ ?
อาการไอ มักพบเห็นได้บ่อยในสุนัข ไม่ว่าจะเป็นอาการสุนัขไอแห้งหรือสุนัขไอเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอ นอกจากโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังมีสาเหตุจากโรคหัวใจในสุนัขอีกด้วย ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่าอาการไอของสุนัขเกิดขึ้นได้อย่างไร
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุ้กกี้เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะกับคุณและวิเคราะห์การเข้าใช้เว็บไซต์ เมื่อท่านกด "ยอมรับ" หรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุ้กกี้ของเว็บไซต์นี้ ตรวจสอบ นโยบายการใช้คุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเราที่นี่